ค้นหา

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

12 วิธีการประหยัดน้ำมันแบบง่าย




ตอนนี้ราคาน้ำมันก็มีวี่แววว่าจะขึ้นต่อไปเรื่อยๆ คนกรุงอย่างเรา ๆ ก็ยังคงเดินทางไปไหนมาไหนโดยอาศัย "รถยนต์" เป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าทางไหนที่จะสามารถประหยัดได้ก็น่าที่จะลองดูดังนั้น “ผู้จัดการ มอเตอร์ริ่ง” จึงได้มีวิธีประหยัดน้ำมันแบบง่าย ๆ 12 วิธี มาฝากกัน โดยเป็นการรวบรวมจากอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองปฏิบัติดูอาจจะช่วยประหยัดได้บ้างไม่มากก็น้อย


ขั้นตอนการประหยัด
1. เติมน้ำมันหลัง 4 ทุ่ม หรือก่อน 9 โมงเช้าเสมอ
2. เติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัดพอแล้ว
3. อุ่นเครื่อง 1 นาทีในหน้าร้อนและ 3 นาทีในหน้าหนาว
4. ค่อยๆออกตัวเมื่อรถจอดนิ่ง 1-2 พันรอบ
5. ควรใช้เกียร์สูงเมื่อรถวิ่งได้ 2500 รอบขึ้นไป
6. เครื่อง 2.0 ลิตรขึ้นไปความเร็วคงที่ที่ทำให้ประหยัด 110 กม./ชม.
7. เครื่อง 1.6 ลิตรขึ้นไปความเร็วคงที่ที่ทำให้ประหยัด 90 กม./ชม.
8. พักรถสัก 15 นาทีเมื่อขับเกิน 4 ชม.เพื่อให้ลดความร้อน
9. เกียร์ถอยกินน้ำมันมากสุด ควรค่อยๆถอยไม่ต้องรีบ
10. ก่อนถึงปลายทางสัก 500 เมตรให้ปิด COM แอร์ลดภาระเครื่อง
11. เช็คลมยางให้สม่ำเสมอทุกๆ 2 อาทิตย์และเมื่อจะออกเดินทางไปต่างจังหวัด
12. พยายามอย่าใส่ของไว้ในรถเยอะ

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

ก๊าซชีวภาพจากพลังขี้หมู โดยสถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




การนำขี้หมู และสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการเลี้ยงหมู มาหมักโดยการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ที่นอกจากเจ้าของฟาร์มไม่ต้องจ่ายค่าพลังงานในการบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นการควบคุมกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และของเสีย ที่ออกจากฟาร์มเลี้ยงหมู ลดการปล่อยทิ้งก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจกอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า รวมถึงยังได้ปุ๋ยอินทรีย์จากขี้หมูที่สามารถนำไปใช้ได้เลยอีกด้วย โดยโครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)
การทำงานของระบบก๊าซชีวภาพ เป็นการอาศัยเทคโนโลยีที่ทำให้กลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ทำหน้าที่หมักย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำซึ่งอยู่ในรูปของของเหลวในสภาพไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) การทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่องกัน ทำให้สารอินทรีย์ในน้ำเสียถูกย่อยสลายและลดปริมาณลง สารอินทรีย์ที่ถูกย่อยสลายนี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นก๊าซผสมระหว่างมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ในอัตราส่วนประมาณ 65 : 35 ก๊าซผสมนี้สามารถติดไฟได้ดี จึงใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับให้ความร้อน แสงสว่างและเดินเครื่องยนต์ได้
การส่งเสริมการใช้ระบบก๊าซชีวภาพนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็กที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ และระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่หน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบ
ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก เป็นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้สร้างระบบก๊าซชีวภาพแบบโดมคงที่ (Fixed Dome) บ่อหมักมีขนาดระหว่าง 12 - 100 ลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.) เพื่อผลิตและนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม การให้แสงสว่างในครัวเรือน รวมถึงการกกลูกหมูด้วยโดยระบบนี้ รองรับหมูได้ไม่เกิน 500 ตัว มีขนาดบ่อมาตรฐาน 5 ขนาด ได้แก่ 12 ลบ.ม. 16 ลบ.ม. 30 ลบ.ม. 50 ลบ.ม. และ 100 ลบ.ม. เป็นเทคโนโลยีแบบโดมคงที่ฝังอยู่ใต้ดิน ประกอบด้วย บ่อเติมมูลสัตว์ (Mixing Chamber) ผสมกับน้ำก่อนเติมลงบ่อหมัก บ่อหมัก (Digester Chamber) ให้เกิดก๊าซมีเทนและก๊าซอื่นๆ ซึ่งก๊าซที่เกิดขึ้นนี้จะผลักดันให้มูลสัตว์และน้ำที่อยู่ด้านล่างของบ่อหมักไหลไปอยู่ในบ่อล้น บ่อล้น (Expansion Chamber) เป็นพื้นที่สำหรับรับมูลสัตว์และน้ำที่ถูกก๊าซผลักดันจากบ่อหมัก โดยการทำงานจะเป็นระบบไดนามิก คือเมื่อก๊าซเกิดขึ้นภายในบ่อหมัก ก๊าซจะมีแรงผลักดันมูลสัตว์และน้ำที่มีอยู่ส่วนล่างของบ่อหมักให้ทะลักขึ้นไปเก็บไว้ที่บ่อล้น เมื่อมีการเปิดก๊าซไปใช้ น้ำในบ่อล้นก็จะไหลย้อนกลับเข้าไปในบ่อหมักเพื่อดันก๊าซให้มีความดันเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ ระบบจะเกิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดเวลา
การดำเนินงานของโครงการก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในระยะแรก ก่อสร้างได้ 280 บ่อ ปริมาณบ่อรวม 6,028 ลบ.ม. ปริมาตรก๊าซ 9.20 ล้านลบ.ม. สามารถใช้ทดแทน LPG ได้ 3.95 ล้านก.ก. หรือทดแทนไม้ฟืน 10.26 ล้านก.ก. และจากการที่ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ โครงการระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาตรรวมไม่ต่ำกว่า 22,000 ลบ.ม. ทั่วประเทศ สามารถรองรับน้ำเสียจากสุกร 102,000 ตัว และได้พลังงานมาใช้ทดแทนก๊าซ LPG 14.4 ล้านก.ก. หรือทดแทนใช้ฟืน 37.4 ล้าน ก.ก. ทั้งยังลดปริมาณกลิ่นและแมลงวันในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มสุกรขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วไปอีกด้วย โดยโครงการนี้เกษตรกรเจ้าของบ่อต้องออกค่าใช้จ่ายเอง 55% และกองทุนฯให้การสนับสนุน 45% ของราคาการก่อสร้างและติดตั้งระบบ
ระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นการออกแบบเพื่อใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งเกษตรกรต้องมีสุกรยืนคอก 5,000 ตัวขึ้นไป และเป็นระบบขนาด 1,000 ลบ.ม. ขึ้นไป ซึ่งมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ทำงานสัมพันธ์กัน สามารถแยกเป็นระบบได้ 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการย่อยสลายสารอินทรีย์ใน บ่อหมักแบบราง (Channel Digester) บ่อหมักแบบรางจะแยกของเสียส่วนข้น และส่วนใสออกจากกัน ของเสียส่วนข้นจะถูกหมักย่อยในบ่อหมักแบบรางนี้ประมาณ 20-30 วัน จนอยู่ในสภาวะที่เสถียร (Stabilized) และผ่านเข้าสู่ลานกรองของแข็ง (Slow Sand Bed Filter : SSBF) ที่เชื่อมต่อกับบ่อหมักแบบราง ลานกรองนี้จึงทำหน้าที่รับกากของเสียส่วนข้นที่ผ่านการหมักย่อยจากบ่อหมักแบบราง กากของเสียนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งที่พืชต้องการ สำหรับของเสียส่วนใสซึ่งมีปริมาณ 80 - 90 % ของของเสียทั้งหมด จะไหลผ่านไปยัง บ่อหมักแบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket Reactor) เพื่อบำบัดในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การบำบัดและย่อยสลายใน บ่อหมักแบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket Reactor) สารอินทรีย์ส่วนใหญ่ในน้ำเสียที่อยู่ในรูปสารละลายจะถูกย่อยสลายในบ่อหมัก UASB และกลายเป็นก๊าซชีวภาพในที่สุด อัตราส่วนของปริมาตรของบ่อหมักแบบรางต่อปริมาตรของบ่อหมักแบบ UASB คือประมาณ 2-3 ต่อ 1 ขึ้นอยู่กับลักษณะคุณสมบัติของน้ำเสียจากฟาร์มที่เข้าสู่ระบบบำบัด น้ำที่ผ่านการบำบัดจากบ่อหมักแบบ UASB แล้วนี้จะมีค่า COD ประมาณ 800 - 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอน บำบัดขั้นหลัง (Post Treatment) ซึ่งเป็นการบำบัดที่ออกแบบระบบให้มีการทำงานที่เลียนแบบธรรมชาติโดยอาศัยการทำงานของพืช สาหร่าย สัตว์น้ำเล็กๆ และแบคทีเรีย ซึ่งเกิดตามธรรมชาติทำงานสัมพันธ์กันเพื่อบำบัดน้ำที่ผ่านการบำบัดแบบไร้ออกซิเจนมาแล้วในขั้นต้นให้สะอาดมากยิ่งขึ้น จนสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ทำความสะอาดคอก หรือปล่อยออกสู่ภายนอกได้ในที่สุด การ บำบัดขั้นหลัง จะประกอบด้วยสระพักแบบเปิดที่รับน้ำเสียจากการบำบัดขั้นที่ 2 แล้วปล่อยเข้าสู่บึงซึ่งปลูกพืชน้ำบางชนิดไว้ให้ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กันกับกลุ่มของแบคทีเรีย และในส่วนสุดท้ายของชุดบึงพืชน้ำจะเป็นสระเลี้ยงปลา เพื่อใช้ประกอบในการสังเกตคุณภาพน้ำที่มีต่อสิ่งมีชีวิต น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีค่า COD สุดท้ายที่ไม่เกิน 200 - 400 มิลลิกรัม/ลิตร และมีค่า BOD ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษยอมรับได้
เกษตรกรรายเล็ก ที่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ เกษตรตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือสถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (02)5793664 สำหรับเจ้าของฟาร์มสุกรขนาดกลางและใหญ่ ที่สนใจสามารถติดต่อไปที่ หน่วยบริการก๊าซชีวภาพ (Biogas Advisory Unit : BAU) สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตู้ ป.ณ.289 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50202 โทรศัพท์ (053)948196-8 โทรสาร (053)948195 หรือ Home Page : http://www.chmai.loxinfo.co.th/~bau/bau.html