ค้นหา

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

รถพลังงานลม (Air Car) ประหยัดน้ำมันแบบรักษ์โลก


ที่มา : http://www.logisticnews.net/modules.php?NUID=45&m=newsupdate_s&op=detailnewsupdate
‘รถพลังงานลมรุ่นแรกที่ออกสู่ตลาด ของตาต้า ใช้ชื่อว่า ‘CityCAT ‘ตั้งราคาไว้ประมาณ 400,000 บาท โดยตาต้าหวังไว้ว่า จุดเด่นของ CityCAT ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ และราคาไม่แพง จะทำให้รถพลังลมรุ่นแรกนี้ ทำยอดขายได้ดีในตลาดอินเดียและประเทศต่างๆทั่วโลก’

รายงานพิเศษ LogisticNews สัปดาห์นี้ ผมจะหยิบเรื่องเบาๆแบบมีสาระมาพูดคุยกัน อย่างที่โปรยหัวครับ หลายๆคนอาจไม่เคยได้ยินเรื่อง รถพลังงานลม (Air Car) มาก่อน ผมก็เช่นเดียวกัน แต่ในยุคที่ราคาน้ำมันแพงเช่นปัจจุบัน ทุกประเทศกำลังดิ้นรนหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ เพื่อมาชดเชยการใช้พลังงานน้ำมัน ที่ดูเหมือนว่าจะถีบตัวสูงขึ้นไม่หยุด ซึ่งอันนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจครับว่า พลังงานน้ำมัน หรือแม้แต่ก๊าซธรรมชาติ ทั้ง LPG และ NGV ทั้งหมด เป็นพลังงานที่ใช้และหมดไป เราคงทราบว่า การน้ำมันที่เราใช้นี้ เป็นสิ่งที่ขุดเจาะจากใต้ดิน ใต้ทะเล พบเจอจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก และก็เป็นโชคดี ของประเทศในตะวันออกกลาง หรืออาหรับ ซึ่งแม้ภูมิประเทศ จะเป็นทะเลทราย แห้งแล้งเวิ้งว้าง แต่ก็มีบ่อน้ำมันซ่อนอยู่ข้างล่าง ขุดเจาะเอามาขาย จนพี่แขกของผมร่ำรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปเก็บไว้ไหนในปัจจุบัน


เคยมีผลงานวิจัย หรือจะเรียกว่าพยากรณ์ก็ได้ ว่าอีก 50 ปีข้างหน้า น้ำมันจะถูกขุดขึ้นมาใช้และหมดไป เรื่องดังกล่าว ไม่มีใครทราบว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็สร้างกระแส ตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ หรือตามหลักการตลาดทั่วไป เมื่อสินค้าใดมีอยู่จำกัด แต่มีความต้องการสูงในตลาด ราคามันก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของการเก็งกำไร ของพวกกองทุนต่างๆ ด้านกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค ก็เมินที่จะเพิ่มกำลังผลิต ทำให้ประเทศที่ผลิตน้ำมันได้น้อย และไม่มีการผลิต ต้องหาซื้อมาใช้อย่างเดียว เดือดร้อนกันถ้วนหน้า กรณีดังกล่าวรวมพี่ไทยด้วย ก่อให้เกิดกระแสการใช้พลังงานทดแทนกันทั่วโลก มีนวัตกรรมยานยนต์รูปแบบใหม่ เกิดขึ้น เช่น รถที่ใช้พลังงานน้ำมันที่ผลิตจากพืช เช่น เอทานอล ที่ใช้ผสมน้ำมันก๊าซโซฮออล์ หรือไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งไทยก็ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งรถพลังงานไฟฟ้า รถพลังงานไนโตเจน รถพลังงานแสงอาทิตย์ จนถึงรถพลังงานลม ซึ่งแต่ละชนิด ก็ยังมีข้อดี และข้อจำกัดแตกต่างกันไป

รถพลังงานลม เป็น ยนตรกรรมที่คิดค้นขึ้นในประเทศลักแซมเบิร์ก โดยบริษัท MDI จากประเทศลักเซมเบิร์ก และ สิทธิบัตรแก่ตาต้าในการผลิตรถยนต์พลังลมในประเทศอินเดีย โดยตาต้ามอเตอร์ บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย ประกาศผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน โดยจะทยอยนำส่งเข้าสู่โชว์รูมในปี พ.ศ. 2552 รถยนต์พลังลม หรือ AirCar นี้ ใช้การปล่อยอากาศจากระบบบีบอัดอากาศด้วยความดันสูง โดยอากาศที่ปล่อยออกมาจะทำหน้าที่หมุนเพลาทำให้รถเคลื่อนที่ไปได้ โดยการเติมอากาศ สามารถเติมได้ตามสถานีอัดอากาศด้วยราคาไม่แพง โดยความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถวิ่งได้ประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการเติมอากาศหนึ่งครั้ง หรือสามารถเสียบปลั๊ก อัดพลังงานลมเข้าถังได้ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงที่บ้าน (ตอนกลางคืนเมื่อเลิกใช้)

รถพลังงานลมรุ่นแรกที่ออกสู่ตลาด ของตาต้า ใช้ชื่อว่า ‘CityCAT ‘ตั้งราคาไว้ประมาณ 400,000 บาท โดยตาต้าหวังไว้ว่า จุดเด่นของ CityCAT ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ และราคาไม่แพง จะทำให้รถพลังลมรุ่นแรกนี้ ทำยอดขายได้ดีในตลาดอินเดียและประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในประเทศไทย ก็มีเอกชนรายหนึ่ง เริ่มนำรถ CityCAT เข้ามาทำตลาดแล้ว
สุดท้ายต้องบอกว่า ผมยังไม่รู้ว่าสมรรถนะของรถพลังงานลมจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ได้ทดสอบ แต่เรื่องนี้ก็จุดประกายให้ทุกคนคิดเรื่องพลังงานใหม่ ทุกวันนี้ เราหนีการซื้อพลังงานน้ำมันที่เขาขายให้ราคาแพง ไปหาพลังงานอื่นๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ที่ก็เป็นพลังงานใช้หมดไปเช่นกัน ส่วนเอทานอล หรือไบโอดีเซล ก็มีข้อจำกัด หากความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นมาก ทำให้เราต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชน้ำมันมากเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายก็มีข้อจำกัด เพราะจะไปเบียดเบียนการปลูกพืชเพื่อใช้บริโภคของมนุษย์ ดังนั้นพลังงานลมอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในอนาคตก็ได้ครับ