ค้นหา

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551

"สบู่ดำ" พืชพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซล


จากภาวะในปัจจุบันที่มีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาประหยัดน้ำมันกัน ก่อนที่จะไม่มีน้ำมันให้ใช้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น จึงมีการนำพืชที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันได้มาสกัดใช้งาน
"สบู่ดำ" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas Linn. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา Euphorbiaceae เช่นเดียวกับสบู่แดง ปัตตาเวีย ฝิ่นต้นหรือมะละกอฝรั่ง หนุมานนั่งแท่น โป๊ยเซียน มันสำปะหลัง มะยม มะขามป้อม ผักหวานบ้าน ฯลฯ ซึ่งมีความหลากหลายกันค่อนข้างมากในลักษณะต้น ใบ ช่อดอก ผล และเมล็ด สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับซื้อเมล็ดไปคัดบีบเอาน้ำมันสำหรับทำสบู่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 2-7 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยงเกลา ใบเรียบมี 4 แฉก คล้ายใบละหุ่ง แต่มีหยักตื้นกว่าใบที่เจริญเติบโตเต็มที่ มีขนาดเท่าฝ่ามือ ลำต้น ใบ ผล และเมล็ด มีสาร hydrocyanic สังเกตได้เมื่อหักลำต้น ส่วนยอดหรือส่วนก้านใบจะมียางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมา มีกลิ่นเหม็นเขียว ต้นสบู่ดำออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ข้อส่วนปลายของยอด ขนาดดอกเล็กสีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกตัวผู้จำนวนมากและดอกตัวเมียจำนวนน้อยอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อติดผลแล้วมีสีเขียวอ่อนเกลี้ยงเกลาเป็นช่อพวงมีหลายผล เวลาสุกแก่จัดมีสีเหลืองคล้ายลูกจัน รูปผลมีลักษณะทรงกลมขนาดปานกลาง เปลือกหนาปานกลาง มีปลูกทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ผลหนึ่งส่วนมากมี 3 พู โดยแต่ละพูทำหน้าที่ห่อหุ้มเมล็ดไว้ เมล็ดสีดำขนาดเล็กกว่าเมล็ดละหุ่งพันธุ์ลายขาวดำเล็กน้อย สีตรงปลายเมล็ดมีจุดสีขาวเล็กๆ ติดอยู่ เมื่อเก็บไว้นานจุดนี้จะหดตัวเหี่ยวแห้งลง ขนาดของเมล็ดเฉลี่ยความยาว 1.7-1.9 เซนติเมตร หนา 0.8-0.9 เซนติเมตร น้ำหนัก 100 เมล็ด ประมาณ 69.8 กรัม เมื่อแกะเปลือกนอกสีดำออกจะเห็นเนื้อในสีขาว
สบู่ดำ เป็นชื่อเรียกในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกว่า มะหุ่งฮั้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มะเยา หรือ สีหลอด ภาคใต้เรียก มะหงเทศ เมล็ดสบู่ดำมีสารพิษเรียกว่า CURCIN หากบริโภคแล้ว ทำให้เกิดอาการท้องเดินเหมือนสลอด กากสบู่ดำยังมีธาตุอาหารใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ในชนบทยังใช้สบู่ดำเป็นยาสมุนไพรกลางบ้าน โดยใช้ยางจากก้านใบป้ายรักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือดและแก้ปวดฟัน รวมทั้งผสมน้ำนมมารดากวาดป้ายลิ้นเด็กที่มีฝ้าขาวหรือคอเป็นตุ่ม และใช้ส่วนของลำต้นมาตัดเป็นท่อนๆ ต้มให้เด็กกินแก้โรคซางหรือตาลขโมย
การขยายพันธุ์ การใช้เมล็ด ควรเก็บฝักที่มีสีเหลืองแก่แกมสีน้ำตาล สามารถเพาะในถุงเพาะหรือกระบะทรายอายุประมาณ 2 เดือน จึงนำไปปลูก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตได้ประมาณ 8-10 เดือนหลังปลูก การใช้ท่อนพันธุ์ควรใช้ท่อนพันธุ์สีน้ำตาลปนเขียวยาว 45-50 เซนติเมตร จะเริ่มมีดอกและให้ผลผลิตระยะ 6-8 เดือนหลังปลูก
การปลูก การเจริญเติบโตลำต้นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านจึงควรตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ เพื่อให้ต้นแตกกิ่งก้าน ระยะปลูก 2 X 2.5 ตารางเมตร ฤดูปลูกที่เหมาะสมเป็นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พื้นที่ปลูกควรเลือกพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง อยู่กลางแจ้งแสงแดดจัด เช่น คันนา นาดอนจัด หัวไร่ปลายนา ริมรั้วบ้าน
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชัยนาท (จักรกลเกษตร) ได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันสบู่ดำกับเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร โดยการจัดทำแปลงสาธิตปลูกต้นสบู่ดำ จำนวน 3 แปลง คือ
1. แปลงบ้านโป่งกำแพง หมู่ที่ 18 ตำบลเนินขาม กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท พื้นที่ 5 ไร่ ปลูกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 ระยะปลูก 150 X 100 เซนติเมตร จำนวนต้นที่ปลูกทั้งสิ้น 5,300 ต้น ใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด ปัจจุบันให้ผลผลิตแล้ว
2. แปลงสาธิตภายในศูนย์ พื้นที่ปลูก 2 ไร่ ปลูกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 ระยะปลูก 150 X 200 เซนติเมตร ใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดปลูกจำนวน 600 ต้น และจากท่อนพันธุ์จำนวน 480 ต้น รวม 1,080 ต้น ปัจจุบันให้ผลผลิตแล้ว และขณะนี้เก็บผลผลิตได้แล้ว
3. แปลงสาธิตบ้านดงเกณฑ์หลวง ตำบลหนองขุ่น อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท พื้นที่ปลูก 5 ไร่ ปลูกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ระยะปลูก 100 X 250 เซนติเมตร ใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดปลูก จำนวน 1,600 ต้น และจากท่อนพันธุ์ จำนวน 1,600 ต้น รวม 3,200 ต้น ปัจจุบันให้ผลผลิตแล้ว
การสกัดน้ำมันสบู่ดำ ผลสบู่ดำแห้ง (ผลสีเหลืองถึงสีดำ) ที่แก่จากต้น นำมากะเทาะเปลือกออกให้เหลือเฉพาะเมล็ด นำไปล้างน้ำทำความสะอาด นำมาผึ่งลมให้เมล็ดแห้งนำไปบุบเมล็ดให้แตก โดยการทุบหรือบดหยาบ นำเมล็ดที่ได้บุบแล้วออกตากแดดเพื่อรับความร้อนประมาณ 30 นาที แล้วนำเมล็ดสบู่ดำเข้าเครื่องสกัด (ใช้แรงงานคน) นำน้ำมันที่ได้ไปกรองเพื่อแยกเศษผง เมล็ดสบู่ดำ 4 กิโลกรัม สกัดน้ำมันได้ 1 ลิตร
น้ำมันที่ได้จากการสกัดเมล็ดสบู่ดำสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ โดยไม่ต้องใช้ส่วนผสมและไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย กากเมล็ดสบู่ดำที่เหลือจากการสกัดน้ำมันมีปริมาณไนโตรเจนสูง ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการ จึงสามารถนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของพืชได้
การทดสอบการใช้งาน จากการนำน้ำมันสบู่ดำที่ได้ไปทดลองเดินเครื่องยนต์คูโบต้าดีเซล 1 สูบ แบบลูกสูบนอกระบบ 4 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบ 400 ซีซี 7 แรงม้า/2,200 รอบ/นาที เปรียบเทียบการทำงานของเครื่องยนต์ (รอบ/นาที) และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง (ซีซี/ชั่วโมง) ระหว่างการใช้น้ำมันสบู่ดำกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
ผลจากการทดสอบกับเครื่องยนต์ เมื่อเดินเครื่องยนต์ด้วยน้ำมันสบู่ดำครบ 1,000 ชั่วโมง ถอดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ออกมาตรวจสอบ เสื้อสูบ ลูกสูบ แหวนลิ้น หัวฉีด และอื่นๆ ไม่พบยางเหนียวจับ ทุกชิ้นยังคงสภาพดีเหมือนเดิม
และในปี 2547 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะมีพระชนมพรรษา 72 พรรษา กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงดำเนินการนำร่องส่งเสริมการใช้น้ำมันสบู่ดำในไร่นา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระชนมพรรษา 72 พรรษา เพื่อกระตุ้นและเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรทั่วไปเห็นความสำคัญของพลังงานทดแทนที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: