ค้นหา

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บ้านดินจากธรรมชาติ

เป็นมิตรกับธรรมชาติ
บ้านดินถูกสร้างขึ้นมาโดยการเปลี่ยนรูปจากดินให้เป็นบ้านเท่านั้น เมื่อเราสร้างขึ้น เราสามารถรื้อ ดินจะเปลี่ยนสภาพจากบ้านกลับเป็นดินดังสภาพเดิม มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อรื้อบ้านดินเสร็จแล้วสามารถปลูกผักได้ทันที"ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านปูนที่ต้องเสียเวลาในการจัดการขยะปูนกองโต บ้านดินจึงเป็นบ้านที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
บ้านดินบ้านมีชีวิต
บ้านดิน มีอุณภูมิภายใน 24-26 องศาเซ็นเซียลตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นอุณภูมิที่มนุษย์สามารถอยู่ได้อย่างสบายไม่ต้องติดแอร์ อีกทั้งฝาฝนังบ้านดินยังสามารถดูดซึมความชื้นได้ดี ดังนั้นบ้านดินจึงช่วยปรับความชื้นภายในได้เป็นอย่างดี บ้านดินคือบ้านที่มีชีวิต สามารถหายใจได้
บ้านดินคือบ้านที่ให้ชีวิต
ในประเทศเกาหลี เชื่อว่าธาตุที่อยู่ในตัวเราประกอบไปด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ สมัยนี้คนเราแทบจะไม่ได้สัมผัสกับดิน จึงทำให้ขาดสมดุลภายในร่างกาย การได้สัมผัสกับดิน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น คนเกาหลียังเชื่อว่า ถ้าคนเราอยู่ในบ้านที่สร้างด้วยธาตุในดินจะระเหยแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งอาจจะจริงตามที่ได้พบเห็น เดี๋ยวนี้มีคนป่วยเข้าโรงพยาบาลกันเป็นจำนวนมาก อาจจะเกิดจากสาเหตุที่ไม่ได้สัมผัสกับดิน บางคนยังกล่าวว่า บ้านปูนดูดพลัง ส่วนดินนั้นให้พลังกับชีวิต
บ้านดิน" สร้างเองก็ได้ง่ายจัง ไม่ต้องจ้างผู้รับเหมา ประหยัดเงินตรา และ ทรัพยากรธรรมชาติ (ไม่ต้องระเบิดภูเขา เอาปูนซิเมนต์ หรือ ทำลายป่า ตัดต้นไม้เยอะ ๆ ) ฤดูร้อนเย็นสบาย ฤดูหนาวแสนอบอุ่น (บ้านดินสามารถปรับอากาศในตัวเองได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดให้เปลืองค่าไฟฟ้า) หากบริเวณบ้านของท่านมีพื้นที่ว่าง ๆ ขอเชิญท่านมาลองสร้างบ้านดินหลังเล็ก ๆ สักหลังหนึ่ง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ทดสอบเนื้อดิน นำดินใส่ในแก้วสามในสี่ส่วน เติมน้ำให้ท่วมดิน ใส่เกลือ 1 ช้อนชาคนแล้วคอยให้ตกตะกอน เพื่อสังเกตดูชั้นต่าง ๆ ของเนื้อดิน แบ่งสัดส่วนของแก้วออกเป็น 10 ส่วน สิ่งที่หนักจะตกตะกอนก่อน จะได้ กรวดหิน - -> ทราย หยาบ - - > ทรายละเอียด - - > ดินเหนียว หากชั้นดินเหนียวได้สัดส่วน 2 ในส่วน 10 ส่วน ถือว่าดินนั้นสามารถนำมาสร้างบ้านได้ จากนั้นเติมน้ำลงในดินนวดให้เหนียว ลองปั้นเป็นเส้นกลม ๆ ขนาดนิ้วมือถ้าขาดแสดงว่าดินนั้นยังใช้ไม่ได้(ดินเหนียวเหมาะสำหรับการสร้างบ้านดินที่สุด ซึ่งสามารถหาได้ทั่วไปในประเทศไทย)
2. หาสถานที่สำหรับเตรียมอิฐดิน ควรจะเลือกทำในบริเวณใกล้ ๆ กับพื้นที่ที่ต้องการสร้างบ้าน เพราะจะลดกำลังในการขนย้ายซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่พ้นจากน้ำท่วมถึง
3. การทำอิฐดินเตรียมกระบะสำหรับผสมดินเหยียบนวดดินให้เหนียวหากดินเหนียวมากๆ ควรจะแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนจะทำให้นวดง่ายขึ้น หากดินเหนียวมาก ๆ ให้ผสมแกลบหรือฟาง (หรือวัสดุใกล้เคียงที่หาได้ในพื้นที่) และทราย ในอัตราทีสังเกตว่าดินที่เหยียบจะไม่ติดเท้าขึ้นมาและเห็นเป็นรอยเท้าบนเนื้อดินถือว่าดินได้ที่แล้ว จากนั้นนำมาเทใส่พิมพ์ไม้ปาดให้เรียบและยกพิมพ์ขึ้นดินจะไม่ติดพิมพ์ในกรณีที่แดดดี ตากทิ้งไว้ 1 วัน จากนั้นพลิกอิฐดินตั้งขึ้น จะทำให้ดินไม่ติดพื้นและแห้งเร็วขึ้น ตากทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่ออิฐดินแห้งแล้วจะมีคุณสมบัติเหมือนกับอิฐมอญที่ไว้ใช้ก่อสร้างบ้านทั่วไป ซึ่งขนาดดินที่เหมาะสมคือ หนา 4 นิ้ว กว้าง 8-10 นิ้ว ยาว 14 -16 นิ้ว (อิฐดิน 1 ก้อน = 15-20 กิโลกรัม)
4. เตรียมปูนสำหรับโบกอิฐดิน ซึ่งเป็นตัวดินชนิดเดียวกับที่นำมาทำอิฐดิน
5. หลังจากเลือกทำเลหนีน้ำแล้ว ต้องเทพื้นบ้านดินให้สูงพอสมควร หรืออาจสร้างเป็นบันไดสูงขั้นสองขั้น เพื่อหนีความชื้นที่ระเหยมาจากพื้นดิน และป้องกันปลวกใต้ดิน ( อย่างไรก็ดีปลวกไม่กินดิน) ซึ่งการเทฐานบ้านอาจใช้ปูนซิเมนต์เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
6. บ้านดินไม่ต้องใช้เสาในการก่อสร้าง เพราะอิฐดินแต่ละก้อนถือว่าเป็นกำแพงของบ้านและเสาที่มั่นคงแข็งแรง หลังจากเทพื้นแล้ว เริ่มก่อสร้างกำแพงชั้นล่างขึ้นเป็นตัวบ้าน เว้นช่องใส่หน้าต่าง ประตู ซึ่งอาจจะมีวงกบไม้หรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ
7. กรณีบ้านสองชั้นต้องรอให้กำแพงดินชั้นล่างแข็งแรงดีแล้วนำไม้เนื้อแข็ง เช่น ยูคาลิปตัส ไม้ไผ่ ฯลฯ วางพาด นำไม้กระดานแผ่นใหญ่วางรองรับด้านล่าง เทดินให้ทั่ว ๆ ปกคลุมไม้ที่วางพาดเลย
8. ก่อสร้างหลังคา ชายคา ซึ่งอาจจะใช้ดินหรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะน้ำเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของบ้านดิน
9. ฉาบกำแพง เพดานให้พื้นเรียบหรือขรุขระตามชอบ
10. การใส่หน้าต่าง ประตู ต้องรอให้ดินแห้งสนิทเสียก่อน เพราะเมื่อดินแห้งจะหดตัวอีก หากใส่กระจกขณะที่ยังไม่แห้ง อาจทำให้กระจกแตกได้
11. ตกแต่งทาสี แนะนำว่าเป็นสีดิน (สีที่ได้จากดิน ซึ่งมีหลายสีด้วยกัน เช่น แดง เหลือง ม่วง เทา แตกต่างกันตามท้องถิ่น) ผสมกับทรายละเอียด เพิ่มความเนียนด้วยกาวแป้งเปียกหรือยางกล้วย (วัสดุอื่น ๆ ที่หาได้ในพื้นที่)
12. ตกแต่งภายในตามชอบสามารถปูพื้นด้วยกระเบื้องหรือปล่อยพื้นเปลือย ๆ เป็นศิลปะญี่ปุ่นก็สวยงามดี.
ข้อมูล : นิตยสารสานแสงอรุณ ฉบับที่ 34 ก.ค. - ส.ค. 45/

ไม่มีความคิดเห็น: